วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

8 วิธีช็อปอย่างชาญฉลาด


 ในภาวะที่ข้าวของเครื่องใช้มีราคาสูงแข่งกับราคาน้ำมันอย่างนี้อาการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับสาวนักช็อปทั้งหลายคงจะไม่พ้นเสียง "กรี๊ด...กรี๊ด...กรี๊ด" แล้ววิ่งเข้าใส่ป้าย "SALE" โดยไม่ได้หยุดพิจารณาว่าสิ่งที่คุณกำลังจะซื้อนั้นถูกจริง ดีจริง และตรงกับความต้องการอย่างแท้จริงหรือไม่

          ต่อไปนี้คือ 8 กลวิธีการบริโภคที่ขอแนะนำให้คุณทดลองนำไปใช้ รับรองว่าได้ผลคุ้มค่า คุ้มเวลา แถมยังได้ของดีราคาประหยัดอีกด้วย

 1. จดรายการที่จะซื้อตามความจำเป็น

          ข้อนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่หลายคนละเลย การทำรายการก่อนออกไปซื้อของไม่ได้หมายถึงการจดรายการสินค้าตามความจำเป็นจากมากไปหาน้อยเพียงอย่างเดียว ทว่ายังรวมถึงการทวนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ของชนิดนั้นเรามีอยู่แล้วกี่ชิ้น มีอย่างอื่นทดแทนได้หรือไม่ รวมทั้งโอกาสในการใช้และภาระต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังการซื้อ

 2. เรียกสติก่อนซื้อ

          หลายคนพอเห็นป้ายลดราคาปุ๊บก็รีบปรี่เข้าไปทันที โดยลืมมองเรื่องคุณภาพและราคาที่แท้จริงไป สินค้าบางอย่างแม้จะตั้งป้ายลดราคาสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความจริงกลับเป็นของเก่าเก็บมานานสองสามปีจนเสื่อมคุณภาพตั้งแต่ยังไม่ทันได้ใช้ หรือบางชิ้นก็ใช้เทคนิคการตั้งราคาให้สูงกว่าปกติ คราวนี้พอลดราคาลงมาก็กลายเป็นราคาในยามปกติ คนซื้อที่ไม่ทันตั้งสติสังเกตดูให้ดี ก็อาจถูกหลอกง่ายๆ ด้วยป้ายแดงแรงฤทธิ์พวกนี้

 3. อย่าซื้อแก้เซ็ง

          ข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับการซื้อของคือ ห้ามซื้อเพื่อแก้เซ็ง แก้เหงา ลดอาการเบื่อโลก หรือแก้อาการอกหัก เพราะในอารมณ์นั้นจะเป็นช่วงที่คนเราสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่างไม่มีเหตุผล ซื้อโดยไม่ดูความต้องการว่าเราจำเป็นต้องใช้ของชิ้นนั้นมากน้อยแค่ไหน และท้ายสุดเมื่ออารมณ์เบื่อ อารมณ์เซ็งหายไป ของที่เราซื้อแบบไม่ลืมหูลืมตาก็จะกลายเป็นเพียงของที่เก็บไว้ให้ช้ำใจอยู่ภายในตู้เท่านั้นเอง

ช็อปปิ้งอิ่มบุญ

          ใครที่กำลังหาซื้อของมือสอง แนะนำให้ตรงมาที่ ซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้วัดสวนแก้ว ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ที่นี่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมของมือสองคุณภาพดีที่มาจากการบริจาคแล้ว เงินที่เราจ่ายไปยังเป็นการทำบุญกับทางวัดอีกทางหนึ่งด้วย เรียกว่าช็อปปิ้งและอิ่มบุญไปพร้อมๆ กัน

 4. ของมือสองไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

          หากลดอคติลง แล้วลองเปิดใจให้สินค้าจำพวกสินค้ามือสองสักนิดก็จะพบว่า บางครั้งสินค้ามือสองก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เช่น หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ถ้าเลือกดีๆ หรือนำมาปัดฝุ่นทาสีใหม่ ก็จะได้ของที่มีคุณภาพและประหยัดเงินในกระเป๋าได้กว่าครึ่ง

 5. ซื้อ 1 โละ 1

          ฝึกสร้างนิสัยในการรู้จักคุณค่าของที่มีอยู่ด้วยวิธีง่ายๆ แค่ตั้งมั่นว่า ถ้าเราซื้อเสื้อ 1 ตัว ให้บริจาคเสื้อที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้า 1 ตัว ซื้อ 5 ตัวก็ให้บริจาค 5 ตัว ทำอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะรู้ถึงคุณค่าของข้าวของต่างๆ มากขึ้น คราวหน้าถ้าจะซื้อของใหม่สักชิ้น เจ้าจิตใต้สำนึกก็จะถามขึ้นมาโดยอัตโนมัติเลยว่า เราใช้ของเก่าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง

 6. ยิ่งช็อปยิ่งรัก

          เชื่อไหมว่าการช็อปปิ้งก็สามารถสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ แต่ช็อปปิ้งที่ว่าหมายถึงการซื้อสินค้าประเภทกึ่งสำเร็จรูปที่แถมอุปกรณ์พร้อมประดิษฐ์ให้เราได้มานั่งประกอบต่อที่บ้าน เช่น ตุ๊กตา แก้วน้ำโมเสก เสื้อยืดพร้อมสีเพ้นต์ เพียงแค่เราซื้อสินค้าเหล่นี้มาหนึ่งชุด จากนั้นก็หาเวลาว่างในสุดสัปดาห์ แล้วชวนคนในครอบครัวมานั่งล้อมวงช่วยกันประดิษฐ์ เสร็จแล้วเราก็จะได้สินค้าที่เกิดขึ้นจากความอบอุ่นของทุกคนในครอบครัว

 7. อย่าลืม! ภาระหลังการซื้อ

          ภาระในที่นี้หมายถึงภาระทางการเงินและการจัดเก็บ สองสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องควรคำนึงก่อนซื้อ บางคนมีเงินจ่ายบัตรเครดิตทุกสิ้นเดือนก็ดีไป ทว่าบางคนเงินไม่มี แต่อยากได้ก็อาจกลายเป็นหนี้สินใหญ่โต ส่วนคนที่ใช้บัตรเสริม ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้กลายเป็นความทุกข์ใจของพ่อแม่

          ด้านที่จัดเก็บนั้น บางคนซื้อของจนแทบไม่มีที่เก็บ กลายเป็นสร้างบ้านเพื่อเก็บของก็มีถมไป นี่ยังไม่นับภาระด้านการดูแลรักษาอีกต่างหาก

 8. ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีเงินช็อปปิ้ง

          ใครที่เคยรู้สึกว่าเดือนไหนไม่มีเงินช็อปแล้วชีวิตจะขาดสีสัน ให้ลองหันมามองอีกมุมว่า ดีเสียอีกที่ไม่มีเงินช็อป จะได้ไม่เสียเวลาไปกับการใช้ของนั้นเพื่อให้คุ้มค่ากับที่ซื้อมา ยิ่งซื้อมามากชิ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องเสียเวลาไปกับการใช้ของที่ซื้อมามากเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น